การประหยัดภาษีกับการวางแผนทางการเงิน


การประหยัดภาษีกับการวางแผนทางการเงิน



เพิ่งจะผ่านปีใหม่มาหมาดๆ ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อลดหย่อนภาษีกันอย่างคึกคักในช่วงปลายปี ไม่ว่าจะเป็น LTF RMF ประกันชีวิตประกันสุขภาพ (ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15,000 บาท โดยเมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตแล้วไม่เกิน 100,000 บาท) ประกันแบบบำนาญ หรือการใช้สิทธิ์ตามมาตรการช้อปช่วยชาติสำหรับการซื้อสินค้าและบริการในประเทศ (หักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท) ในช่วง 11 พ.ย. - 3 ธ.ค. 60 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจมีคำถามว่า ควรจะใช้สิทธิประโยชน์ทุกอย่าง เพื่อเสียภาษีให้ต่ำสุดเท่าที่เป็นไปได้หรือไม่ จริงๆ การวางแผนภาษีเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการวางแผนทางการเงินเท่านั้น ซึ่งการวางแผนทางการเงิน ควรจะต้องพิจารณาเป้าหมายทางการเงินเป็นหลัก รวมถึงการพิจารณาเงินออมคงเหลือรายปี โดยอาจกล่าวได้ว่าการลดหย่อนภาษีเป็นแค่เป้าหมายรอง หรือของแถมเท่านั้น



ดังนั้นในการวางแผนภาษีให้เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนทางการเงินนั้น สามารถเริ่มจากการคำนวณเงินที่ต้องออมต่อปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน เช่น กรณีปัจจุบัน นายตูน อายุ 35 ปี และต้องการเกษียณที่อายุ 55 ปี โดยมีเงินใช้หลังเกษียณไปอีก 25 ปี โดยใช้จ่ายได้เดือนละ 20,000 บาท จากเป้าหมายนี้ กรณีสามารถนำเงินออมไปจัดสรรได้ผลตอบแทนคาดหวังที่ 6% นายตูนควรจะมีเงินออมรายปีประมาณ 236,135 บาท (ซึ่งคิดเป็นการออมเดือนละ 19,700 บาท) ต่อปี เป็นเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปีปัจจุบันไปจนถึงปีที่เกษียณอายุ เพื่อไปใช้หลังเกษียณ เดือนละ 20,000 บาท ถึงอายุ 80 ปี (สมมติฐานเงินเฟ้อที่ 3% ผลตอบแทนหลังเกษียณก่อนเงินเฟ้อ 5% หรือคิดเป็นผลตอบแทนหลังเกษียณหลังเงินเฟ้อ 1.94%)



จากนั้น เมื่อนายตูนทราบแล้ว ว่าควรออมเดือนละประมาณ 20,000 บาท หรือ 240,000 บาทต่อปี โดยเมื่อพิจารณากระแสเงินสดคงเหลือรายปี (รายรับ - รายจ่าย) พบว่ามีเงินเหลือเพียงพอสำหรับการออม นายตูนสามารถออมผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วได้ โดยกรณีที่นายตูนเสียภาษีอยู่ในอัตราภาษีที่ 20% กรณีนายตูนนำเงินออม 240,000 บาทมาซื้อ LTF RMF หรือประกัน นอกจากนายตูนจะสามารถมีเงินออมเพื่อวางแผนเกษียณแล้ว นายตูนยังสามารถได้เงินภาษีคืนอีกจำนวน 48,000 บาทต่อปี (ตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด) ซึ่งเงินส่วนนี้ สามารถที่จะนำกลับมาออมเพิ่มได้ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น



ในทำนองกลับกัน หากนายตูน พิจารณา เพียงแค่เรื่องการลดหย่อนภาษีให้เสียภาษีที่ต่ำที่สุด ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบใช้ลดหย่อนเต็มสิทธิ์ โดยกรณีถ้านายตูนมีกระแสเงินสดเหลือไม่พอ แต่ต้องการลดหย่อนภาษี จึงไปกู้ผ่านสินเชื่อส่วนบุคคลต่างๆ เพื่อมาซื้อ LTF ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น (เช่น 28%) สูงกว่าอัตราภาษีที่นายตูนเสียอยู่ในปัจจุบันที่ (20%) กรณีนี้นอกจากนายตูนจะไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่แล้ว อาจทำให้ความมั่งคั่งของนายตูนลดลงอีกด้วย ตัวอย่างเช่น กรณีกู้ 240,000 บาท มาซื้อ LTF ที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 28 ต่อปี คิดเป็นดอกเบี้ยเท่ากับ 67,200 บาทต่อปี จะเห็นได้ว่าดอกเบี้ยเงินกู้ กรณีไม่มีการชำระเป็นเวลา 1 ปี ก็สูงกว่าเงินที่ประหยัดภาษีได้จำนวน 48,000 บาท



นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาระยะเวลาการถือครอง LTF คือ 7 ปีปฏิทิน จึงจะขายได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี จะเห็นว่า ภาษีที่ประหยัดได้ต่อปี เท่ากับ 2.86% เท่านั้น คำนวณจากอัตราภาษี 20% / 7 ปี เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องจ่าย 28% จะเห็นได้ว่าไม่ควรกู้มาเพื่อซื้อ LTF เพื่อลดหย่อนภาษี เนื่องจากดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสูงกว่าผลตอบแทนที่ได้จากการประหยัดภาษี ถึง 10 เท่า


 ที่มา: นิตยสาร Money & Wealth ฉบับเดือนมกราคม 2561


ไม่มีความคิดเห็น